กรุงเทพฯ 17 ก.ค.- อธิบดีกรมชลประทาน กำชับเข้มแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก จากกรมอุตุฯ เตือนพายุโซนร้อน “ตาลิม” จะเคลื่อนขึ้นฝั่งเวียดนามเย็นพรุ่งนี้ โดยไทยจะมีฝนตกเพิ่มขึ้นทุกภาคและตกหนักถึงหนักมาก 64 จังหวัด ระหว่าง 17-20 ก.ค. ย้ำเก็บกักน้ำจากฝนที่ตกเหนือเขื่อน
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า สั่งการโครงการชลประทานทั่วประเทศดำเนินการตามแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเรื่อง พายุโซนร้อนกำลังแรง “ตาลิม” (TALIM) จะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำและขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนเย็นวันที่ 18 ก.ค. แม้พายุจะไม่เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยโดยตรง แต่พายุจะช่วยดึงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ให้มีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน ดังนั้นระหว่างวันที่ 17 -20 ก.ค. ทุกภาคจะมีฝนเพิ่มขึ้น โดยจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งใน 64 จังหวัด โดยอาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้
สำหรับ 64 จังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ประกอบด้วย
วันที่ 17 ก.ค.
- ภาคเหนือได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน น่าน ตาก และกำแพงเพชร
- ภาตตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่ จังหวัดอุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
- ภาคกลางได้แก่ จังหวัดอุทัยธานี กาญจนบุรี ราชบุรี ลพบุรี สระบุรี สมุทรสงคราม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
- ภาคตะวันออกได้แก่ จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
- ภาคใต้ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
วันที่ 18 ก.ค.
- ภาคเหนือได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก และกำแพงเพชร
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่ จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
- ภาคกลางได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี กาญจนบุรี ราชบุรี ลพบุรี สระบุรี สมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
- ภาคตะวันออกได้แก่ จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
- ภาคใต้ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
วันที่ 19-20 ก.ค.
- ภาคเหนือได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่ จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
- ภาคกลางได้แก่ จังหวัดอุทัยธานี กาญจนบุรี ราชบุรี ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยาสมุทรสงคราม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑลภาคตะวันออกได้แก่ จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
- ภาคใต้ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครตรีอรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
ทั้งนี้กรมชลประทานได้เตรียมพร้อมรับมือ โดยติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) เพื่อกำหนดพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง ซึ่งให้สำนักงานชลประทานที่รับผิดชอบนำเครื่องจักรเครื่องมือเข้าประจำจุดเสี่ยง รวมทั้งเตรียมบุคลากรและระบบสื่อสารสำรองให้พร้อม นอกจากนี้ยังย้ำให้ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอาคารชลประทาน และตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำ รวมถึงกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ
นายประพิศกล่าวว่า ได้ย้ำให้เก็บกักน้ำจากฝนที่ตกบริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำ ขณะเดียวกันให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม หากจำเป็นต้องปรับเพิ่มปริมาณการระบายต้องไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายอ่างเก็บน้ำ พร้อมกันนี้ต้องเตรียมพร้อมบูรณาการร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้าและต้องเข้าช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที กรณีที่เกิดสถานการณ์
หากหน่วยงานหรือประชาชนต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร. สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ตลอดเวลา.-สำนักข่าวไทย