กรุงเทพฯ 14 ก.ค.-อธิบดีกรมชลประทาน สั่งเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากใน 65 อำเภอของ 21 จังหวัด ตามประกาศ กอนช. และประกาศกรมอุตุฯ ที่เตือนว่าจะมีฝนตกเพิ่มขึ้นทุกภาค ตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ ย้ำเตรียมพร้อมช่วยเหลือประชาชนทันท่วงที
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า ได้สั่งการโครงการชลประทานทั่วประเทศเฝ้าระวังและเตรียมดำเนินการตามแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก จากที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ออกประกาศเรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก เช่นเดียวกับที่กรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งเตือนให้เฝ้าระวังฝนที่จะตกเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ โดยหลายพื้นที่จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากเนื่องจากร่องมรสุมกำลังแรงจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบนของประเทศไทย เข้าสู่หย่อมความกดกาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง
ทั้งนี้จากการประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน ในช่วงวันที่ 15 – 20 กรกฎาคม 2566 รวม 65 อำเภอใน 21 จังหวัด ดังนี้
1.ภาคเหนือได้แก่
– จังหวัดเชียงราย (อำเภอแม่สายและแม่จัน)
– จังหวัดน่าน (อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ปัว และเชียงกลาง)
– จังหวัดแม่ฮ่องสอน (อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน แม่ลาน้อย แม่สะเรียง ขุนยวม ปางมะผ้า ปาย และสบเมย)
– จังหวัดตาก (อำเภอแม่ระมาด แม่สอด พบพระ ท่าสองยาง และอุ้มผาง)
2. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่
– จังหวัดหนองคาย (อำเภอเมืองหนองคาย)
– จังหวัดบึงกาฬ (อำเภอเซกาและบึงโขงหลง)
– จังหวัดสกลนคร (อำเภอโคกศรีสุพรรณ)
– จังหวัดร้อยเอ็ด (อำเภอเสลภูมิและโพนทอง)
– จังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอบุณฑริก)
3. ภาคตะวันออกได้แก่
– จังหวัดระยอง (อำเภอเขาชะเมาและแกลง)
– จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี ขลุง เขาคิชฌกูฏ ท่าใหม่ มะขาม และแก่งหางแมว)
– จังหวัดตราด (อำเภอเมืองตราด บ่อไร่ เกาะช้าง และเกาะกูด)
4. ภาคใต้ได้แก่
– จังหวัดชุมพร (อำเภอพะโต๊ะ)
– จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองระนอง สุขสำราญ และกะเปอร์)
– จังหวัดพังงา (อำเภอกะปง คุระบุรี ตะกั่วทุ่ง ตะกั่วป่า และท้ายเหมือง)
– จังหวัดภูเก็ต (อำเภอเมืองภูเก็ต กะทู้ และถลาง)
– จังหวัดกระบี่ (อำเภอเมืองกระบี่ เกาะลันตา คลองท่อม เหนือคลอง และอ่าวลึก)
– จังหวัดตรัง (อำเภอเมืองตรัง กันตัง ห้วยยอด และปะเหลียน)
– จังหวัดสตูล (อำเภอทุ่งหว้า มะนัง ท่าแพ และควนกาหลง)
– จังหวัดพัทลุง (อำเภอเมืองพัทลุง ป่าบอน และควนขนุน)
– จังหวัดนราธิวาส (อำเภอระแงะ)
อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทุกพื้นที่เตรียมพร้อมรับมือโดยติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ หรือพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ
ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่องและเตรียมพร้อมบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อช่วยเหลือได้ทันที
หากหน่วยงานหรือประชาชนต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 .-สำนักข่าวไทย