จาการ์ตา 15 มิ.ย.- ประธานเจ้าหน้าที่บริหารหรือซีอีโอของติ๊กต็อก (TikTok) แอปพลิเคชันแชร์คลิปยอดนิยมเผยว่า จะทุ่มเงินลงทุนจำนวนมหาศาลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงหลายปีข้างหน้า เนื่องจากธุรกิจชอปปิ้งออนไลน์ที่บริษัทเพิ่งเปิดตัวกำลังเติบโตอย่างดี
โจว โซ่วจือ ซีอีโอสัญชาติสิงคโปร์ วัย 40 ปี กล่าวบนเวทีหนึ่งที่กรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซียในวันนี้ว่า ติ๊กต็อกจะลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐในอินโดนีเซียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงหลายปีข้างหน้า เพราะทีมงานของบริษัทในภูมิภาคนี้ได้ขยายตัวอย่างมากจากที่เริ่มต้นด้วย 100 คน เป็นเกือบ 8,000 คนแล้วในปัจจุบัน คนในภูมิภาคนี้ใช้ติ๊กต็อกเดือนละ 325 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ใช้ชาวอินโดนีเซียมากถึง 125 ล้านคน และมีผู้ใช้ชาวอินโดนีเซียมากกว่า 2 ล้านคน จำหน่ายสินค้าในร้านติ๊กต็อก หรือติ๊กต็อก ชอป (TikTok Shop) มีตั้งแต่สินค้าเทคโนโลยี แฟชั่น สินค้าผลิตในครัวเรือน และอื่น ๆ
ขณะเดียวกัน โมเมนตัม เวิร์กส์ (Momentum Works) บริษัทที่ปรึกษาในสิงคโปร์ เผยแพร่รายงานแจกแจงวิธีการที่ติ๊กต็อก ชอป ขยายธุรกิจในปี 2565 หลังจากทดลองตลาดในอินโดนีเซียหนึ่งปีก่อนหน้านั้น และมีอัตราการเติบโตรวดเร็วที่สุด ทั้งที่เริ่มทีหลังเจ้าตลาดอย่างช้อปปี้ (Shopee) และลาซาด้า (Lazada) โดยมียอดจำหน่ายสินค้าทั้งหมด หรือจีเอ็มวี (gross merchandise value: GMV) ในปี 2565 ที่ 4,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 153,205 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นมากกว่า 7 เท่า จาก 600,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 20.89 ล้านบาท) ในปี 2564 ครอบคลุมถึงคำสั่งซื้อสินค้าที่มีการยกเลิก ส่งคืน และคืนเงินด้วย
รายงานระบุด้วยว่า จีเอ็มวีของแพลตฟอร์มยอดนิยมที่สุด 9 อันดับแรกในภูมิภาคนี้อยู่ที่เกือบ 100,0000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.48 ล้านล้านบาท) ในปี 2565 เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 จากปี 2564 อันดับหนึ่งคือ ช้อปปี้ของสิงคโปร์ ครองส่วนแบ่ง 47,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.66 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 อันดับ 2 คือ ลาซาด้า ในเครืออาลีบาบา กรุ๊ป ของจีน ครองส่วนแบ่ง 20,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 699,872 ล้านบาท) ลดลงจาก 21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 731,209 ล้านบาท) อินโดนีเซียเป็นตลาดอีคอมเมิร์ซใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ ครองสัดส่วนจีเอ็มวีถึงร้อยละ 52.-สำนักข่าวไทย