วอชิงตัน 13 มิ.ย. – วารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์เผยผลการศึกษาล่าสุดวานนี้พบว่า จำนวนประชากรที่ป่วยเป็นโรคอ้วนเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก โดยขณะนี้อัตราส่วนผู้ป่วยโรคอ้วนต่อประชากรทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1 ต่อ 10 คน และคาดว่า ราว 2,200 ล้านคนมีน้ำหนักเกินเกณฑ์ สร้างความวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤตด้านสุขภาพเพิ่มมากขึ้น
ผลวิจัยเกี่ยวกับปัญหาโรคอ้วนใน 195 ประเทศทั่วโลกตลอด 35 ปีนับแต่ปี 2523 พบว่า ประชากรวัยผู้ใหญ่ที่ป่วยเป็นโรคอ้วนเมื่อปีที่แล้วมีจำนวนอยู่ที่ 603.7 ล้านคน ส่วนวัยเด็กมีจำนวนอยู่ที่ 107.7 ล้านคน นับเป็นวิกฤติทางสาธารณสุขที่น่าเป็นห่วงและกำลังขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี แม้ตัวเลขผู้ป่วยโรคอ้วนในวัยเด็กจะยังคงต่ำกว่าในวัยผู้ใหญ่ แต่กลับมีอัตราเพิ่มขึ้นรวดเร็วกว่าตลอดช่วงที่มีการศึกษา
ผู้จัดทำรายงานผลวิจัยและนักวิชาการด้านสุขภาพจากสถาบันเพื่อการวัดและการประเมินผลสุขภาพแห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตันในเมืองซีแอตเทิลของสหรัฐกล่าวว่า ปัญหาน้ำหนักตัวเกินค่ามาตรฐานเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่มีความท้าทายที่สุดอย่างหนึ่งในขณะนี้ โดยทุกๆ 3 คนต้องมีผู้ป่วย 1 คน นอกจากนี้ มีการประเมินตัวเลขผู้ป่วยโรคอ้วนและมีน้ำหนักเกินเกณฑ์ในปีที่แล้วอยู่ที่ 2,200 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 30 ของประชากรทั่วโลก
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก หรือ ดับเบิลยูเอชโอ ประเมินจำนวนประชาชนที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ทั่วโลกในปี 2557 อยู่ที่ 1,900 ล้านคน ในจำนวนนี้กว่า 600 ล้านคนป่วยเป็นโรคอ้วน น้ำหนักตัวที่มากเกินไปมีส่วนทำให้มีผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน และมะเร็งบางชนิดเพิ่มมากขึ้น.- สำนักข่าวไทย