กรุงเทพฯ 24 พ.ค.- อธิบดีกรมชลประทานสั่งสำนักงานชลประทานทุกภาคเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำไหลหลากตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ โดยเฉพาะใน 37 อำเภอ 17 จังหวัดที่เป็นพื้นที่เสี่ยง ย้ำให้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เตรียมพร้อมตามเตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก ตลอดจนให้เข้าช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที หากเกิดสถานการณ์
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า สั่งการให้สำนักงานชลประทานทุกแห่งเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำไหลหลากตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ซึ่งติดตามสภาพอากาศ พบว่า มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยจะมีกำลังแรงขึ้น หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลางจะเคลื่อนเข้ามาปกคลุมประเทศลาวและกัมพูชา ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบริเวณภาคตะวันออก ส่วนภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในช่วงวันที่ 27 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2566
ทั้งนี้จากการประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบพื้นที่เสี่ยงใน 37 อำเภอ 17 จังหวัด ดังนี้
1. ภาคเหนือได้แก่ จังหวัดเพชรบูรณ์ (อำเภอหล่มเก่า)
2. ภาคกลางได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี (อำเภอท่ายาง บ้านลาด และเมืองเพชรบุรี) และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (อำเภอหัวหินและปราณบุรี)
3. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่ จังหวัดสุรินทร์ (อำเภอเมืองสุรินทร์) จังหวัดบุรีรัมย์ (อำเภอเมืองบุรีรัมย์) และจังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอเมืองอุบลราชธานีและพิบูลมังสาหาร)
4. ภาคตะวันออกได้แก่ จังหวัดชลบุรี (อำเภอเมืองชลบุรี) จังหวัดระยอง (อำเภอเมืองระยองและแกลง) จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี) และจังหวัดตราด (อำเภอเมืองตราด และเขาสมิง)
5. ภาคใต้ จังหวัดชุมพร (อำเภอพะโต๊ะ) จังหวัดระนอง (อำเภอกะเปอร์ เมืองระนองและสุขสำราญ) จังหวัดพังงา (อำเภอกะปง คุระบุรี ตะกั่วทุ่ง ตะกั่วป่า และท้ายเหมือง) จังหวัดภูเก็ต (อำเภอกะทู้ ถลาง และเมืองภูเก็ต) จังหวัดกระบี่ (อำเภอเกาะลันตา คลองท่อม เมืองกระบี่ เหนือคลอง และอ่าวลึก) จังหวัดตรัง (อำเภอเมืองตรัง กันตัง และปะเหลียน) และจังหวัดสตูล (อำเภอทุ่งหว้า)
ทั้งนี้ได้ย้ำให้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตรในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ หรือพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำนองไม่สามารถระบายได้ทัน โดยให้เตรียมพร้อมทั้งบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือไว้ประจำจุดเสี่ยงตามแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ตลอดจนประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำและแจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้า หากเกิดสถานการณ์ให้เข้าช่วยเหลือประชาชนทันที.-สำนักข่าวไทย