กรุงเทพฯ 2 พ.ย. – คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ระบุการคัดเลือกผู้ผลิตไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมเป็นไปอย่างโปร่งใส เตรียมเปิดรับซื้อไฟฟ้าขยะชุมชน 140 เมกะวัตต์ เดือน พ.ย.นี้ และ ธ.ค. เตรียมเปิดบิดดิ้งไฟฟ้าชีวมวล/ชีวภาพ ประมาณ 400 เมกะวัตต์ ส่วนโซลาร์ราชการและสหกรณ์การเกษตรอีก 519 เมกะวัตต์เปิดรับซื้อได้ต้นปี 2560
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า เดือนพฤศจิกายนนี้ กกพ.จะประกาศรับซื้อไฟฟ้าพิเศษจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนปี 2558 – 2562 ว่า ปริมาณรับซื้อจะอยู่ที่ 140 เมกะวัตต์ โดยดูจากกำลังผลิตติดตั้ง โดยที่ผ่านมาล่าช้า เนื่องจากต้องรอกระทรวงมหาดไทยยืนยันเรื่องพื้นที่และจุดรับซื้อไฟฟ้าหรือจุดเชื่อมโยงไฟฟ้า (Feeder) โดยมีการยืนยันเมื่อเดือนกันยายน และมีการเปลี่ยนแปลงใหม่อีกครั้งเดือนตุลาคม ดังนั้น จึงจะประกาศได้ในเดือนพฤศจิกายนนี้
นายวีระพล กล่าวว่า เมื่อรับทราบว่ามีสายส่งพื้นที่ใด เหลือชัดเจน ดังนั้น เดือนธันวาคมนี้จะประกาศเสนอแข่งขันราคา (บิดดิ้ง) FiT สำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวลและชีวภาพ ปริมาณ 400 เมกะวัตต์ และต้นปี 2560 จะประกาศรับซื้อไฟฟ้าโครงการโซลาร์ฟาร์มภาคราชการและสหกรณ์ที่เหลืออีก 519 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยล่าสุดพลังงานทดแทนที่มีสัญญาเรียบร้อยแล้ว 9,155 เมกะวัตต์
ส่วนผลการรับซื้อไฟฟ้าพิเศษจากขยะอุตสาหกรรมที่ผ่านการคัดเลือกทั้ง 7 โครงการ กำลังผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้นจำนวน 41.83 เมกะวัตต์ จากประกาศรับซื้อ 50 เมกะวัตต์ นั้น นายวีระพล กล่าวว่า จะเปิดรับซื้อให้ครบหรือไม่นั้น คงต้องดูรายละเอียดต่อไป โดยยืนยันว่าการคัดเลือกเป็นไปอย่างโปร่งใส เป็นไปตามคุณสมบัติที่ประกาศไว้ทุกประการ ซึ่งมีผู้สมัคร 26 โครงการ กว่า 200 เมกะวัตต์ แต่รายอื่น ๆ ที่ไม่ได้รับการคัดเลือก เพราะคุณสมบัติตกไป เช่น เรื่องเสนอฟีดเดอร์ผิดพื้นที่ สัญญาการซื้อขายขยะไม่ชัดเจน การลงนามรับรองโฉนดผิดหลักเกณฑ์ เงินลงทุนไม่ชัดเจน ซึ่งเรื่องเหล่านี้ทาง กกพ.ประกาศก่อนที่จะให้ยื่นเสนอมาเสียอีก อย่างไรก็ตาม ทางภาคเอกชนผู้เสนอโครงการสามารถยื่นคัดค้านหลังการประกาศผลแล้วภายใน 30 วัน
“การคัดเลือกยืนยันโปร่งใส มีอนุกรรมการที่มาจากผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมตรวจสอบ ซึ่งโครงการลงทุนขนาดใหญ่เช่นนี้ น่าเสียดายผู้เสนอโครงการบางรายทำไม่รอบคอบ เสนอฟีดเดอร์ผิดพื้นที่ทำให้ผ่านการคัดเลือก 7 รายเท่านั้น” นายวีระพล กล่าว
สำหรับทั้ง 7 รายที่ กกพ.ประกาศ ได้แก่ บริษัท พีจี แอนด์ ซี 5714 จำกัด ปริมาณเสนอขาย 2.5 เมกะวัตต์ กำลังการผลิตติดตั้ง 3 เมกะวัตต์ , บริษัท ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ปริมาณเสนอขาย 6.9 เมกะวัตต์ กำลังการผลิตติดตั้ง 8.630 เมกะวัตต์, บริษัท ศแบงยั่งยืน พิจิตร จำกัด ปริมาณเสนอขาย 1.88 เมกะวัตต์ กำลังการผลิตติดตั้ง 2 เมกะวัตต์ , บริษัท โปรเกรส อินเตอร์เคม (ประเทศไทย) จำกัด ปริมาณเสนอขาย 4 เมกะวัตต์ กำลังการผลิตติดตั้ง 4.8 เมกะวัตต์ , บริษัท เอวา แกรนด์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ปริมาณเสนอขาย 3 เมกะวัตต์ กำลังการผลิตติดตั้ง 6 เมกะวัตต์ , บริษัท รีคัฟเวอรี่ เฮ้าส์ จำกัด ปริมาณเสนอขาย 5.5 เมกะวัตต์ กำลังการผลิตติดตั้ง 9.4 เมกะวัตต์ และบริษัท อนุรักษ์พลังงานซิเมนต์ไทย จำกัด ปริมาณเสนอขาย 7 เมกะวัตต์ กำลังการผลิตติดตั้ง 8 เมกะวัตต์ ซึ่งมีปริมาณเสนอขายรวมทั้งสิ้นจำนวน 30.78 เมกะวัตต์ และปริมาณกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้นจำนวน 41.83 เมกะวัตต์ โดยจะต้องดำเนินการลงนามภายใน 120 วัน หรือภายในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2560 และจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในเดือนธันวาคม 2562.-สำนักข่าวไทย