เนปาล 7 มิ.ย. – เนปาลเป็นประเทศที่ขาดแคลนรถพยาบาล และทีมแพทย์ฉุกเฉินที่ผ่านการฝึกฝนมา ขณะนี้แพทย์กลุ่มหนึ่งจากสหรัฐได้เข้ามาช่วยฝึกฝนบุคลากรเหล่านี้
สภาพภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยภูเขาและการจราจรที่แออัดคับคั่งในกรุงกาฐมาณฑุ ทำให้รถพยาบาลฉุกเฉินต้องใช้เวลานานมากในการนำผู้ป่วยไปถึงโรงพยาบาล ขณะนี้เนปาลมีรถพยาบาลฉุกเฉินอยู่น้อยมากและยังขาดแคลนเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ประจำรถพยาบาล ทำให้โอกาสที่ผู้ป่วยจะรอดชีวิตก็น้อยลงไปด้วย
พ่อของสุพัช ดันเกล ซึ่งป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ เคยหมดสติไป เขาจึงเรียกรถพยาบาลฉุกเฉินมาช่วย แต่ในรถไม่มีเจ้าหน้าที่ประจำรถที่พอจะช่วยปฐมพยาบาลได้ โชคดีที่พ่อของเขาไปถึงโรงพยาบาลได้ทันเวลาและรอดชีวิตมาได้ หากเกิดเหตุร้ายกับผู้ป่วยและจำเป็นต้องได้รับการปั๊มหัวใจอย่างปัจจุบันทันด่วน คงยากที่ผู้ป่วยจะรอดชีวิต
รถพยาบาลฉุกเฉินในเนปาลส่วนใหญ่ไม่มีถังออกซิเจน ไม่มีแผ่นรองหลัง และไม่มีเจ้าหน้าที่แพทย์ประจำรถ ประเทศเนปาลมีประชากรกว่า 26 ล้านคน แต่มีรถพยาบาลฉุกเฉินที่มีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญประจำรถในโรงพยาบาลเอกชนเพียง 3 แห่ง และในองค์กรนอกภาครัฐอีกหนึ่งแห่ง คณะแพทย์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดของสหรัฐจึงจัดการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ประจำรถพยาบาลฉุกเฉิน 48 คน ให้แก่เนปาล เป็นเวลา 12 สัปดาห์ โดยหวังว่าคนเหล่านี้จะเข้าไปช่วยพัฒนางานบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ผู้ที่เข้ารับการอบรมได้เรียนรู้เกี่ยวกับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น การดูแลผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุ และการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจ รวมทั้งการคลอดบุตร
รีเบคก้า วอล์กเกอร์ หัวหน้าทีมแพทย์จากสแตนฟอร์ด บอกว่า การนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลอย่างรวดเร็วเป็นสิ่งจำเป็นมาก หากเจ้าหน้าที่ประจำรถไม่ได้รับการฝึกอบรมให้รู้วิธีใช้อุปกรณ์ช่วยชีวิตระหว่างไปโรงพยาบาล บริการของรถพยาบาลก็คงไม่แตกต่างกับการใช้รถแท็กซี่พาผู้ป่วยไปโรงพยาบาล เนปาลเพิ่งเริ่มจะก่อตั้งหน่วยรถพยาบาลฉุกเฉินเมื่อปี 2554 โดยมีรถให้บริการเริ่มแรกเพียง 5 คัน. – สำนักข่าวไทย