ทำเนียบฯ 1 มิ.ย. – บอร์ดบีโอไอขยายเวลามาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนถึงสิ้นปี 61 พร้อมเปิดทาง 6 กิจการที่เลิกให้ส่งเสริมกลับมาใหม่ และส่งเสริมกิจการใหม่ “โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล” เพิ่มศักยภาพการให้บริการอินเทอร์เน็ตให้คนไทย
นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเห็นชอบให้บีโอไอขยายเวลานโยบายส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) ออกไปอีก 1 ปี จากเดิมสิ้นสุดสิ้นปีนี้ ให้มีผลถึงสิ้นปี 2561 เพื่อเป็นการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ชายแดนมากขึ้นและสอดคล้องกับแผนการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมในพื้นที่ชายแดน
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้เปิดทาง 6 ประเภทกิจการ ซึ่งสิ้นสุดการให้ส่งเสริมไปแล้วให้สามารถขอรับส่งเสริมได้จนถึงสิ้นปี 2561 เนื่องจากเป็นกิจการที่นักลงทุนในพื้นที่ให้ความสนใจและกิจการ 2 ประเภทในกลุ่มนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้ขยายขอบข่ายธุรกิจกว้างขึ้นด้วย ได้แก่ กิจการผลิตวัสดุก่อสร้าง ให้ครอบคลุมวัสดุก่อสร้างทุกประเภทและกิจการผลิตสิ่งปรุงแต่งสำหรับประทินร่างกายรวมถึงการผลิตเครื่องสำอางด้วย สำหรับการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ 10 จังหวัด (ตาก มุกดาหาร สระแก้ว ตราด สงขลา เชียงราย หนองคาย นครพนม กาญจนบุรี และนราธิวาส) ตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 จนถึงเดือนเมษายน 2560 มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมแล้ว 41 โครงการ เงินลงทุนรวม 8,578 ล้านบาท เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจเข้าตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน จึงต้องหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เพื่อศึกษามาตรการจูงใจมากขึ้น เพราะยังมีเอกชนเข้ามาตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจไม่สูงมาก
นางหิรัญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมยังพิจารณาเรื่องการปรับประเภทกิจการและปรับสิทธิประโยชน์เพื่อให้เอื้อต่อการลงทุน ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบให้มีการเปิดประเภทกิจการใหม่ คือ กิจการโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนโครงข่ายการสื่อสารผ่านเคเบิลใต้น้ำ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีเส้นทางน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และหากมีการลงทุนเพิ่มโครงข่ายมากขึ้นจะช่วยเพิ่มศักยภาพการให้บริการระบบอินเทอร์เน็ตและช่วยให้ประชาชนเข้าถึงและใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบให้เพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีในกลุ่มกิจการต่าง ๆ ที่มีระดับเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงหรือมีขั้นตอนการพัฒนาและออกแบบ เช่น กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์และกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีระดับเทคโนโลยีขั้นสูง หรือมีการออกแบบผลิตภัณฑ์ รวมทั้งเพิ่มสิทธิประโยชน์แก่กิจการนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตอุตสาหกรรม เนื่องจากเป็นกิจการที่ช่วยจัดระเบียบพื้นที่อุตสาหกรรมช่วยดูแลด้านสิ่งแวดล้อม.-สำนักข่าวไทย