กรุงเทพฯ 29 พ.ค. – กรมชลประทานเผยสถานการณ์น้ำท่วมส่วนใหญ่เข้าสู่ภาวะปกติ ระบุระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยายังรับน้ำได้ ส่วนน้ำเหนือยังมีปริมาณน้อยไม่กระทบกรุงเทพมหานคร
นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ต่าง ๆ ส่วนใหญ่เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว คงเหลือพื้นที่ อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย ที่ยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตร ส่วนพื้นที่ชุมชนในเขตเทศบาลคีรีมาศเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ จ.พิษณุโลก ได้ประสานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้คงการระบายน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์วันละ 5.5 ล้านลูกบาศก์เมตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ระดับน้ำในแม่น้ำน่านลดลงช่วยให้การระบายน้ำจากแม่น้ำยมลงสู่แม่น้ำน่านสะดวกรวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ ยังติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 23 เครื่อง สูบน้ำออกจากพื้นที่นาข้าว เพื่อไม่ให้ต้นข้าวได้รับความเสียและยังได้นำรถขุดไฮโดรลิกอีก 4 คัน เข้าไปดำเนินการเสริมคันดินในจุดที่ตลิ่งต่ำ เพื่อเป็นแนวป้องกันน้ำเอ่อล้นตลิ่งและเอาสิ่งกีดขวางทางน้ำออกอีกด้วย
สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันพื้นที่น้ำท่วมลดลงจากเดิมประมาณ 14,000 ไร่ คงเหลือประมาณ 5,000 ไร่ ยังไม่มีรายงานความเสียหาย ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำยมสายเก่า คลองน้ำไหล คลองเมม-คลองบางแก้ว และคลองสาขาต่าง ๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง หากไม่มีฝนตกหนักลงมาเพิ่ม คาดว่าภายใน 2-4 วัน จะเข้าสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าระวังพื้นที่ลุ่มต่ำและบ้านเรือนที่อยู่ติดกับแม่น้ำยมสายหลัก (ฝั่งซ้าย) ที่อาจจะเกิดภาะน้ำเอ่อล้นตลิ่ง เนื่องจากยังคงมีปริมาณน้ำสูงขึ้นจากน้ำที่ระบายมาจากพื้นที่ตอนบนในเขต อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำและรับฟังการแจ้งเตือนจากหน่วยงานราชการต่าง ๆ ในพื้นที่อย่างใกล้ชิดด้วย
ส่วนสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด (29 พ.ค. 60) มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ 1,061 ล้านลูกบาศก์เมตร ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 5.58 เมตร (ตลิ่ง 26.20 เมตร) กรมชลประทาน ควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ 677 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ยังไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายเขื่อน ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยารวมถึงแม่น้ำสายหลักอื่น ๆ ระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่งและสามารถรองรับปริมาณน้ำได้อีกมาก ซึ่งทางกรมชลประทานได้มีการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำทุกพื้นที่โครงการชลประทานทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจและติดตั้งเครื่องสูบน้ำในจุดที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม การเร่งระบายน้ำในพื้นที่น้ำท่วมขังจนสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้วหลายพื้นที่ รวมถึงการติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในแต่ละพื้นที่อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ยังได้บูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรายงานสถานการณ์น้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานท้องถิ่นทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนสามารถทำได้อย่างทันท่วงทีและเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด
สำหรับปริมาณน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้น เกิดจากฝนตกหนักในพื้นที่ ทำให้มีน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำหลายแห่ง เนื่องจากระบายน้ำไม่ทัน ส่วนสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงระยะนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ และปริมาณน้ำเหนือยังอยู่ในเกณฑ์น้อย โดยในช่วงเช้าวันนี้มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.29 อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เพียง 853 ลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ ปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านกรุงเทพมหานครและปริมณฑลสามารถรับได้สูงสุด 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งกรมชลประทานประสานรายงานสถานการณ์น้ำให้แก่สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานครทราบอย่างต่อเนื่อง.-สำนักข่าวไทย