กรุงเทพฯ 28 พ.ค. – กรมชลประทานติดตั้งเครื่องสูบน้ำเร่งระบายน้ำท่วมขังและเริ่มเน่าเสียในพื้นที่คีรีมาศ พร้อมวางแนวทางรระบายน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่าง เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำมากที่สุด
นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ต่าง ๆ ส่วนใหญ่เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว คงเหลือพื้นที่ อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย ที่ยังมีท่วมขังและเริ่มเน่าเสีย จึงติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 2 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่แล้ว ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำได้ประสานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้คงการระบายน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์วันละ 5.5 ล้านลูกบาศก์เมตร อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ระดับน้ำในแม่น้ำน่านลดต่ำลงช่วยให้การระบายน้ำจากแม่น้ำยมลงสู่แม่น้ำน่านสะดวกรวดเร็วขึ้น
สำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำที่มีฝนตกหนัก ทำให้เกิดน้ำท่วมขังเป็นแห่ง ๆ นั้น กรมชลประทาน โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่านได้วางแนวทางในการช่วยเหลือเร่งระบายน้ำ ด้วยการปิดการรับน้ำแม่น้ำน่าน จากท่อระบายน้ำคลองต้นโพธิ์ (YN.1) และท่อระบายน้ำคลองอ้อม (YN.2) พร้อมกับเร่งระบายน้ำในแม่น้ำยมสายเก่า คลองน้ำไหล คลองเมม-คลองบางแก้ว ลงสู่แม่น้ำยมผ่านประตูระบายน้ำบางแก้ว และยังได้เร่งระบายน้ำจากแม่น้ำยมสายหลักลงสู่แม่น้ำน่าน ผ่านทางคลอง DR-2.8 ในอัตรา 133 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระบายน้ำจากคลองเมม-คลองบางแก้ว ลงสู่แม่น้ำน่าน ผ่านทางคลอง DR-15.8 ในอัตรา 20 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที นอกจากนี้ โครงการชลประทานพิษณุโลก ยังได้ดำเนินการรื้อทำนบดินชั่วคราวในแม่น้ำยมสายหลัก 2 แห่ง บริเวณม.2 และ ม.10 ต.ท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก พร้อมกับกำจัดเศษสวะหน้าประตูระบายน้ำวังสะตือ ต.ดงเดือย อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย เพื่อเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำในแม่น้ำยมสายหลัก รวมไปถึงการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 23 เครื่อง สูบน้ำออกจากพื้นที่นาข้าว เพื่อไม่ให้ต้นข้าวได้รับความเสีย และยังได้นำรถขุดไฮโดรลิกอีก 4 คัน เข้าไปดำเนินการเสริมคันดินในจุดที่ตลิ่งต่ำ เพื่อเป็นแนวป้องกันน้ำเอ่อล้นตลิ่งและเอาสิ่งกีดขวางทางน้ำออกอีกด้วย
ทั้งนี้ สถานการณ์ปัจจุบันพื้นที่น้ำท่วมลดลงจากเดิมประมาณ 14,000 ไร่ คงเหลือประมาณ 5,000 ไร่ ยังไม่มีรายงานความเสียหาย ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำยมสายเก่า คลองน้ำไหล คลองเมม-คลองบางแก้ว และคลองสาขาต่าง ๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง หากไม่มีฝนตกหนักลงมาเพิ่มคาดว่าภายใน 3-5 วัน จะเข้าสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าระวังในพื้นที่ลุ่มต่ำและบ้านเรือนที่อยู่ติดกับแม่น้ำยมสายหลัก (ฝั่งซ้าย) ที่อาจจะเกิดภาะน้ำเอ่อล้นตลิ่ง เนื่องจากยังคงมีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้น จากน้ำที่ระบายมาจากพื้นที่ตอนบนในเขต อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำและรับฟังการแจ้งเตือนจากหน่วยงานราชการต่าง ๆ ในพื้นที่อย่างใกล้ชิดด้วย
สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด (28 พ.ค.) มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ 1,079 ล้านลูกบาศก์เมตร ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 5.59 เมตร(ตลิ่ง 26.20 เมตร) กรมชลประทาน ควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ 677 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ยังไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายเขื่อน ส่วนแม่น้ำสายหลักอื่นระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่ง อาทิ แม่น้ำปิง ที่สถานี P.1 อ.เมืองเชียงใหม่ ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 2.32 เมตร(ตลิ่ง 3.70 เมตร) ,แม่น้ำวัง ที่สถานี W.4A อ.สามเงา จ.ตาก ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 4.71 เมตร(ตลิ่ง 6.10 เมตร) ,แม่น้ำยม ที่สถานี Y.4 อ.เมืองสุโขทัย ระดับน้ำกว่าตลิ่งอยู่ 5.37 เมตร(ตลิ่ง 7.45 เมตร) ,แม่น้ำน่าน ที่สถานี N.67 อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 4.75 เมตร(ตลิ่ง 28.30 เมตร)
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยารวมถึงแม่น้ำสายหลักอื่น ๆ ระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่งและสามารถรองรับปริมาณน้ำได้อีกมาก ซึ่งทางกรมชลประทาน ได้มีการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำในทุกพื้นที่โครงการชลประทานทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจและติดตั้งเครื่องสูบน้ำในจุดที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม การเร่งระบายน้ำในพื้นที่น้ำท่วมขังจนสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้วหลายพื้นที่ รวมถึงการติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในแต่ละพื้นที่อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ยังได้บูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรายงานสถานการณ์น้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานท้องถิ่นทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนสามารถทำได้อย่างทันท่วงทีและเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด.-สำนักข่าวไทย