กรุงเทพฯ 26 มี.ค. – นักเศรษฐศาสตร์เตือนหุ้นธนาคารยุโรปดิ่ง สะท้อนปัญหาความเชื่อมั่นต่อระบบสถาบันการเงินยังไม่คลี่คลาย เตรียมรับมือภาวะเงินตึงตัวจากวิกฤติสถาบันการเงินโลกและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยธนาคารกลาง แนะไทยไม่ต้องรีบขึ้นดอกเบี้ย
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หุ้นกลุ่มสถาบันการเงินในยุโรปที่ดิ่งลงอย่างแรงต่อเนื่อง เกิดความเสี่ยงและควาไม่มั่นใจต่ออนาคตของธนาคารดอยช์แบงก์ (Deutsche Bank) ธนาคารขนาดใหญ่ของเยอรมนี และธนาคาร Societe Generale ธนาคารขนาดใหญ่ของฝรั่งเศส โดยสองธนาคารมีฐานะมั่นคง อย่างธนาคารดอยช์แบงก์ เพิ่งประกาศผลกำไรในปี 2565 สูงสุดในรอบ 15 ปี ในช่วงธนาคารเครดิต สวิส (Credit Suisse) ของสวิตเซอร์แลนด์ มีปัญหาก่อนการควบรวมกับธนาคาร UBS เงินฝากและเงินลงทุนไหลเข้าธนาคารดอยช์แบงก์ เป็นการเสริมสภาพคล่องให้กับธนาคารอย่างฉับพลัน ธนาคารได้นำเอาสภาพคล่องส่วนเกินเหล่านี้ไปซื้อหุ้นกู้ด้อยสิทธิ (Tier 2 Suborinated Debt) คืนก่อนครบกำหนด
แทนที่ตลาดจะตีความในทางบวก แต่กลับมองในทางลบว่า อนาคตธุรกิจของธนาคารน่าจะซบเซาจากปัญหาวิกฤติสถาบันการเงินในยุโรป และไม่มั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจและโอกาสในการเติบโตของสินเชื่อในอนาคต สิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนปัญหาความเชื่อมั่นต่อระบบสถาบันการเงินโลกยังไม่คลี่คลาย แม้จะมีสัญญาณบวก กรณียอดเงินฝากและเงินลงทุนจากธนาคารขนาดใหญ่ทยอยไหลย้อนกลับไปยังธนาคารกลางและธนาคารเล็กบ้างแล้ว สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงินและนักลงทุนในสหรัฐอเมริกาต่อระบบธนาคารกลางเริ่มกระเตื้องขึ้น
นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า จากเกิดภาวะเงินตึงตัว หลายประเทศยังไม่สามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้ตามเป้าหมาย อาจต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อให้ได้ แต่ปัญหาน่าเป็นห่วงขณะนี้ อาจเกิดภาวะเงินตึงตัว (Tight Money) ในบางประเทศเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว มีความต้องการสินเชื่อและเงินทุนเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณเงินและสินเชื่อมีจำกัด ครัวเรือนและผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อได้ยากขึ้น ขณะที่ในบางประเทศเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ธนาคารในประเทศปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวังและเข้มงวด ทำให้ภาคธุรกิจและภาคการลงทุนไม่ได้สินเชื่อ การหาแหล่งเงินทุนระหว่างประเทศ อาจเกิดปัญหาเสถียรภาพของสถาบันการเงินโลกขึ้นมาอีก ขณะที่ตลาดการเงินโลกผันผวนรุนแรง เกิดความยากลำบากในการหาเงินทุน การที่ธนาคารกลางหลายประเทศ นำโดยธนาคารกลางสหรัฐ ยุโรป อังกฤษ ญี่ปุ่น ร่วมประสานกันในการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินโลกเมื่อหลายวันก่อน นับเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง รวดเร็ว ทันสถานการณ์ เพื่อแก้ปัญหาภาวะขาดสภาพคล่องและเงินตึงตัว
นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า “ไทย” ยังไม่ได้มีปัญหาภาวะเงินตึงตัว หากพิจารณาจากอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากและตั๋ว BE อยู่ที่ 91-92 ประกอบกับยังมีเงินทุนไหลเข้า ดุลการชำระเงินยังเป็นบวก ในระยะสั้นยังไม่น่าวิตกกังวล แต่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ผลตอบแทนแท้จริงจากการฝากเงินธนาคารยังคงติดลบ และรายได้แท้จริงลดลงจากอัตราเงินเฟ้อสูง ทำให้การออมแท้จริงโดยรวมในประเทศลดลง การทำนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจระยะสั้นนั้น จึงต้องดำเนินการในลักษณะ “กฎ” (Rule-based Stabilization Policy) มากกว่าการใช้วิจารณาญาณ (Discretionary Policy) ต้องแสดงให้สาธารณชนทราบถึงเป้าหมายของนโยบายรัฐ
ธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องใช้ “อัตราดอกเบี้ยนโยบาย” เป็นเครื่องมือและกลไกส่งผ่านไปยังระบบสถาบันการเงิน คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน จึงไม่จำเป็นต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในการประชุมวันที่ 29 มีนาคมนี้ และควรปล่อยให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวไปตามตลาด. – สำนักข่าวไทย