กกต. 3 มี.ค.-“วิญญัติ ชาติมนตรี” ยื่น กกต.ตรวจสอบ “ปลื้ม-สุรบถ” ถือหุ้นสื่อเข้าข่ายเป็น ส.ส.ผิดกฎหมาย แนบหลักฐานทะเบียนกรมธุรกิจการค้า ยันขาดคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ
นายวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ เข้ายื่นหนังสือต่อเลขาธิการ กกต. ขอให้ตรวจสอบการได้เลื่อนอันดับเพื่อเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ของนายสุรบถ หลีกภัย ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ แทนคนเดิมที่ลาออกไป ว่ามีลักษณะเข้าข่ายบุคคลมีลักษณะต้องห้ามมิให้สมัคร ส.ส. และจะทำให้กระบวนการเป็น ส.ส. ขัดหรือฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใดหรือไม่
นายวิญญัติ กล่าวว่ามายื่นเรื่อง เพราะทราบจากสื่อมวลซนที่ได้นำเสนอผลประกอบการของบริษัทเอกชนที่ทำธุรกิจกิจการโฆษณา ที่มีนายสุรบถ หลีกภัย ในฐานะกรรมการบริษัทและเป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ ตนจึงนำไปเทียบกับกรณีอื่นๆว่าเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นสื่อมวลชน ตามความมาตรา 9(3) ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นสื่อมวลซนใดๆ อาจส่งผลต่อความเป็น ส.ส.ของนายสุรบถ ให้สิ้นสุดลงหรือเป็นการเข้ารับตำแหน่งโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบด้วยหรือไม่ เนื่องจากข้อเท็จจริงที่ทราบว่าภายหลัง กกต.ประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว ผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง แม้ขณะนั้นนายสุรบถจะอยู่ในลำดับตามบัญชีที่ไม่ได้เป็น ส.ส. แต่ตามกฎหมายก็ยังต้องคงสถานะการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่ออยู่ต่อไป ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามด้วย เนื่องจากแตกต่างกับการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขต
นายวิญญัติ กล่าวอีกว่าเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 ในช่วงที่ กกต.ประกาศผลการเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์ นายสุรบถ เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลซนใดๆตามกฎหมาย ซึ่งเป็นบุคคลที่มีลักษณะ ต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 98 (3) และพ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 มาตรา 42(3) นายสุรบถ หลีกภัย เป็นกรรมการบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการโฆษณา ระหว่างวันที่ 11 กันยายน 2555 ถึง 22 มกราคม 2566 และเป็นกรรมการบริษัทอีกแห่ง (เอกชนที่สอง) ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2558 ถึงวันที่ 6 ธันวาคม 2563 และจากหลักฐานพบว่านายสุรบถ หลีกภัย ได้โอนหุ้นบริษัทเอกชนแห่งแรก จำนวน 29,998 หุ้น ให้แก่นางภักดิพร สุจริตกุล ผู้เป็นมารดา เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566 ทั้งนี้ลักษณะการโอนกลับไปกลับมา ระหว่างบุคคลสองคน ในขณะที่นายสุรบถก็ยังคงมีตำแหน่งเป็นกรรมการบริษัทเอกชนอยู่นั้น และในขณะเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์ด้วย
“วันที่ 30 เมษายน 2562 จึงถือว่านายสุรบถ เป็นบุคคลเข้าข่ายเป็นผู้ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ต้องห้าม ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 98 (3) และพ.ร.ป. การเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 มาตรา 42(3) จึงมีข้อสังเกตว่าวันที่ 20 มกราคม 2566 นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ บัญชีรายชื่ออันดับที่ก่อนนายสุรบถ ได้ลาออกจากการเป็น ส.ส.เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2566 ประธานรัฐสภา ก็ออกประกาศรับรองการเป็น ส.ส.ของนายสุรบถ ในวันถัดมาทันที (21 ม.ค. 2566 ) ดังนั้นวันนี้ตนในฐานะประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ติดตามการบังคับใช้กฎหมายของ กกต.และการตีความขององค์กรศาลที่เคยเป็นกรณีตัวอย่าง จึงมาขอให้ กกต.ได้ตรวจสอบ สอบสวน เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันและไม่มีการเลือกปฏิบัติ ซึ่งได้แนบหลักฐานจากการสืบค้นทางทะเบียนกรมธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ มาด้วย” นายวิญญัติ กล่าว .- สำนักข่าวไทย