รัฐสภา 9 ก.พ.- “ชวน” กำชับสมาชิกใช้วุฒิภาวะในการอภิปรายแก้ รธน. ปิดสวิตซ์ ส.ว.เลือกนายกฯ วอนอย่าเหยียดหยาม หยาบคาย หวั่นขัดแย้ง แจงนัดประชุมร่วมรัฐสภาพิเศษเพื่อดันงานสภา ส่งสัญญาณรัฐบาลรักษาองค์ประชุม ยังเปิดวิสามัญได้ ก่อนหมดอายุสภา
นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฏร ชี้แจงถึงกรณีนัดประชุมร่วมรัฐสภานัดพิเศษ 2 วันนี้ (8 ก.พ.)ว่า เพื่อให้ร่างกฎหมายต่างๆ สามารถผ่านการพิจารณาไปได้ทั้งหมด เพราะหากนัดประชุมวาระปกติมีร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติค้างอยู่ อาจทำให้ร่างกฎหมายที่ต่อคิวอยู่ล่าช้าได้ ดังนั้น จึงกำหนดวาระพิจารณาร่าง ส่งพ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน และร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 159 และ 272 เรื่องตัดอำนาจส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี และที่มาของนายกรัฐมนตรี ขึ้นมาพิจารณาเรื่องละ1 วัน เพื่อให้งานสภาขับเคลื่อนไปได้ โดยไม่มีกฎหมายค้างอยู่เหมือนร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่ค้างจนทำให้ร่างกฎหมายอื่นไม่ได้พิจารณา
นายชวน กล่าวว่า ได้นัดประชุมวิป 3 ฝ่ายเมื่อวานนี้ (8 ก.พ.)เพื่อกำชับให้สมาชิกใช้วุฒิภาวะในการอภิปราย อย่าก้าวร้าว เหยียดหยาม หยาบคาย กับวุฒิสภา ให้ เสนอแนวทางแก้ไขกฎหมายอย่างผู้มีวุฒิภาวะ หากทำได้เช่นนั้นข้อขัดแย้งก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส.ว. ส่วนหนึ่ง ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นกฎหมายที่เปิดโอกาสให้ด่าหรือตำหนิวุฒิสภา และเป็นที่มาของการไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุมของสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งไม่เคยปรากฎมาก่อน ในช่วง4 ปี ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ จะมีส.ส.แสดงความประสงค์อภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เกือบ10 คน เชื่อว่า จะสามารถลงมติได้ไม่เกิน 14.00 น วันนี้ (8 ก.พ.)
นายชวน กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าจะมีการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามมาตรา 152 ก่อนที่สัปดาห์สุดท้ายจะพยายามพิจารณาเรื่องที่กรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้วให้ครบทุกเรื่อง จึงขอร้องสมาชิกอย่าสกัดกั้นกฎหมาย ขอให้ผลงานได้ออกมา
ทั้งนี้ รัฐบาลได้เสนอกฎหมายใหม่เข้ามาเพิ่มอีก 3-4 ฉบับ จึงได้โทรศัพท์ไปพูดคุยสอบถามนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีว่า”ไหนบอกว่าจะไม่ส่งมาแล้ว” โดยนายวิษณุ ชี้แจงว่าเป็นเรื่องที่คณะกรรมการประสานงานส่งมา ในส่วนของรัฐบาลไม่มีแล้ว ดังนั้นจึงทำหนังสือส่งไปยังนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการว่า จากการตรวจสอบจำนวนสมาชิก เมื่อ 6 ก.พ. ฝ่ายรัฐบาลยังมีเสียงข้างมาก หากต้องการให้กฎหมายหรือญัตติใดผ่าน ทำได้โดยใช้เวลาที่เหลืออยู่อย่างจำกัด ด้วยการรักษาองค์ประชุมให้ครบ เพราะสภาฯชุดนี้ยังอยู่ได้จนถึง 23 มีนาคม 2566 และสามารถเปิดประชุมสมัยวิสามัญได้ โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ.-สำนักข่าวไทย