7 ก.พ. – นักวิชาการด้านธรณีวิทยาแผ่นดินไหว ยืนยันเหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศตุรกีและซีเรียไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยเพราะอยู่ห่างไกลกันมาก
รศ.ดร.ปัญญา จารุศิริ หัวหน้าหน่วยวิจัยธรณีวิทยาแผ่นดินไหว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับทีมข่าวสำนักข่าวไทยถึงกรณีธรณีพิบัติ หรือแผ่นดินไหว ที่เกิดขึ้นในประเทศตุรกีต่อเนื่องถึงซีเรีย จนมีผู้เสียชีวิตกว่า 4,000 ราย เมื่อวานนี้ว่า สาเหตุหลักเกิดจากตุรกีเป็นประเทศที่ตั้งอยู่บนเปลือกโลก ชื่อ อนาโตเลี่ยน ซึ่งคนทั่วๆ ไปไม่ค่อยรู้จัก เมื่อเปรียบเทียบกับแผ่นเปลือกโลกอื่นๆ เช่น แผ่นยุโรป เอเชีย แคนนาดา อเมริกาใต้
เมื่อแผ่นเปลือกโลกอนาโตเลี่ยนถูกห้อมล้อมด้วยแผ่นเปลือกโลกอื่นๆ ที่ใหญ่กว่า เมื่อกระทบกระแทกจากเปลือกโลกแผ่นอื่น จึงมีการสะสมพลังงาน เมื่อถูกกระแทกบ่อยครั้ง การสะสมพลังงานถึงขีดสุด จึงเหมือนกับฟางเส้นสุดท้าย เมื่อรับไม่ไหวจึงเกิดการสั่นไหวขึ้น แต่แผ่นดินไหวครั้งนี้ในตุรกีและซีเรีย เกิดบริเวณที่ห่างไกลจากทะเลจึงทำให้มีสึนามิเล็กๆ เกิดขึ้นตามมา แต่สาเหตุที่มีผู้คนล้มตายกว่า 4,000 คนนั้น เป็นเพราะแผ่นเปลือกโลกดังกล่าว ซึ่งเป็นจุดที่เกิดแผ่นดินไหวอยู่ในพื้นที่ชุมชนซึ่งมีผู้คนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ประกอบกับมีบ้านเรือนอาคารสูงขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น
สำหรับในประเทศไทยแผ่นดินไหว เกิดขึ้นได้ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออก ซึ่งมีรอยเลื่อนอยู่ แต่ความรุนแรงน้อยมาก เมื่อเทียบกับพม่า อินโดนีเซีย ที่อยู่ใกล้แผ่นเปลือกโลกมากกว่าเรา และแผ่นดินไหวในตุรกีและซีเรียครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อไทยอย่างแน่นอน แต่ในประเทศไทยยังต้องกังวลกับแผ่นเปลือกโลกบาเรนห์ หากเกิดการเคลื่อนไหวของแผ่นเปลือกโลกแผ่นนี้ขึ้นมา แรงสั่นสะเทือนจะส่งผลต่อไทยโดยเฉพาะพื้นที่ ภาตใต้ฝั่งอันดามัน
ดังนั้นทุ่นเตือนภัยแผ่นดินไหวในทะเลที่มีอยู่ต้องห้ามเสียเด็ดขาด หากจะถามว่า แล้วแผ่นดินแผ่นเปลือกโลกบาห์เรนมันจะสั่นไหวเมื่อไหร่ ไม่มีใครตอบได้ ไม่มีใครรู้ แต่เครื่องเตือนภัยแผ่นดินไหวสำคัญมาก จึงเสียไม่ได้ หากเครื่องพังขึ้นมา ผลที่ตามมาจะเสียหายและสูญเสียอย่างมากมาย เพราะการสร้างบ้านเรื่องบนพื้นที่ชายฝั่ง ของภูเก็ตและพังงาผิดหลักวิศวกรรม ไม่ว่าจะอดีตหรือปัจจุบัน. -สำนักข่าวไทย