วัดพระศรีมหาธาตุ 6 ก.พ.- “อนุทิน” เปิดโครงการอบรมพระบริบาลภิกษุไข้ 1 รูป 1 วัด นำความรู้ด้านสุขภาพไปให้พระบริบาล ใช้ดูพระอาพาธ ที่มีมากถึง 28.5% ส่วนใหญ่อาพาธ 5 โรคได้แก่ มะเร็ง ปอดอุดกั้น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไตวายเรื้อรัง แม้กระบวนการรักษาใน รพ.เสร็จสิ้น แต่จำเป็นต้องดูแลต่อเนื่อง
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าว โครงการอบรมพระบริบาลภิกษุไข้ 1 รูป 1 วัด ทั่วไทย เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระสังฆราชฯ ฉลองพระชนมายุครบ 8 รอบ 96 พรรษา ว่า ปัจจุบันพบสถานการณ์ พระภิกษุอาพาธ 28.5% ส่วนใหญ่อาพาธ 5 โรคได้แก่ มะเร็ง ปอดอุดกั้น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไตวายเรื้อรัง ซึ่งเมื่อพระภิกษุสงฆ์ รับการรักษาในสถานพยาบาลแล้วต้องกลับมาจำวัดแต่อาการอาพาธยังคงเรื้อรัง จำเป็นต้องมีผู้บริบาลดูแล โดยทางสถาบันพระบรมราชชนกได้จัดอบรมพระบริบาลภิกษุอาพาธเพื่อให้คอยดูแลพระอาพาธดังกล่าว โดยเป็นพระภิกษุในวัดด้วยกัน ซึ่งจะได้รับความรู้ ทางวิชาการและการดูแลสุขภาพ โดยเตรียมอบรมเริ่มตั้งแต่วันนี้ (6 ก.พ.) จนถึงวันที่ 30 มิ.ย.66 มีจำนวนพระภิกษุเข้าร่วมทั้งสิ้น 9,360 รูป เพื่อคอยช่วยเหลือดูแลพระภิกษุอาพาธในวัด รวมถึงให้ความรู้เรื่องของการฉันอาหาร
สอดคล้องกับและคติธรรม พระโอวาทที่สมเด็จพระสังฆราชทรงประทาน ว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงปฏิบัติพระองค์เป็นแบบอย่างในการ บริบาลพระภิกษุไข้ด้วยพระองค์เอง แม้ทรงสถิตในที่พระบรมศาสดา แต่ก็ยังทรงเอาพระทัยใส่สอดส่องดูแลพระภิกษุสงฆ์ เสด็จไปทรงสำรวจตรวจตรา ความเป็นอยู่ และทรงบริบาลภิกษุอาพาธ ด้วยความเต็มพระทัยมิได้ทอดทิ้ง แม้ต้องทรงสัมผัสกับปฏิกูลหรือความยากลำบาก ก็มิได้ทรงรังเกียจ นับเป็น แบบอย่างของบรรพชิต พร้อมอัญเชิญพุทธโอวาทของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่า ดู กร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอไม่มีมารดาไม่มีบิดา ผู้ใดเล่าจะพึงพยาบาล พวกเธอ ถ้าพวกเธอจักไม่พยาบาลกันเอง ใครเล่าจักพยาบาล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดจะพึงอุปัฏฐากเรา ผู้นั้นพึงพยาบาลภิกษุอาพาธ ถ้าไม่มีอุปัชฌายะ อาจารย์, สัทธิวิหาริก, อันเตวาสิก ภิกษุผู้ร่วมอุปัชฌายะ ภิกษุผู้ร่วมอาจารย์ สงฆ์ต้องช่วยกันพยาบาล ถ้าไม่พยาบาล ต้องอาบัติ พระพุทธดำรัสนี้แสดงให้เห็นประจักษ์ว่า พระสงฆ์มี “หน้าที่” ที่จะต้องบริบาลรักษาดูแลกัน จะทอดทิ้งกันมิได้ เพราะฉะนั้นการที่สาธุชนช่วยถวายความรู้ให้พระสงฆ์มีความสามารถในการบริบาล จึงเป็นแบบอย่างยิ่งใหญ่ เป็นการเกื้อกูลให้พระภิกษุสงฆ์ ปฏิบัติตนตามครรลองพระธรรมวินัย เพื่อการบำเพ็ญสมณธรรมได้อย่างแท้จริง. – สำนักข่าวไทย