กรุงเทพฯ 25 ม.ค. – ผู้เสียหายกว่า 20 คน เข้าแจ้งความ ปคบ.ให้ดำเนินคดีเจ้าของโชว์รูมรถใน จ.ลพบุรี หลังหลอกลวงผู้ซื้อรถใหม่ป้ายแดง แต่ไม่สามารถขอป้ายทะเบียนใหม่ได้นานกว่า 1 ปี ทำผู้ซื้อรถเดือดร้อนถูกตำรวจเรียกจับตลอด
ที่ศูนย์ฯ รับแจ้งความ กองบัญชาการ ตำรวจสอบสวนกลาง ทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ พาผู้เสียหาย ประมาณ 20 คน เข้าพบพนักงานสอบสวน ปคบ. เพื่อแจ้งดำเนินคดีกับเจ้าของโชว์รูมรถแห่งหนึ่งในจังหวัดลพบุรีในข้อหาฉ้อโกงประชาชน หลังมีพฤติกรรมหลอกลวงผู้ซื้อรถใหม่ป้ายแดง แต่ไม่สามารถออกป้ายขาวให้ได้ ทำให้ผู้ซื้อเดือดร้อนขับรถป้ายแดงถูกตำรวจเรียกตรวจตลอด และไม่มีความมั่นใจว่าในอนาคตจะได้ป้ายขาว และได้ใช้รถตามปกติหรือไม่
ทนายเดชา กล่าวว่า บริษัทดังกล่าวมีการไปจัดบูธจำหน่ายรถยนต์ในห้างสรรพสินค้า โดยอ้างว่ามีรถมือ 1 ป้ายแดง สามารถจดทะเบียนได้ใน 30-45 วัน และได้ป้ายขาวภายใน 30 วัน มีผู้หลงเชื่อ 34 คน ซื้อรถมือหนึ่งป้ายแดงทั้งในลักษณะซื้อสดและซื้อเงินดาวน์ แต่เมื่อได้ป้ายแดงใช้รถ 1- 2 ปี แต่โชว์รูมกลับไม่มีการจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย มีแต่ป้ายแดงติดที่รถ ทำให้ผู้ซื้อต้องขับรถเถื่อน ผู้เสียหายมาร้องทุกข์กับตน จึงพามาแจ้งความแจ้งความร้องทุกข์ เพื่อขอให้มีการตรวจสอบความผิด และจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องมาดำเนินคดี พร้อมเรียกร้องให้ไฟแนนซ์นำป้ายขาวมาให้กับผู้ซื้อ หรือผู้ซื้อจะขอคืนรถให้กับไฟแนนซ์ โดยไฟแนนซ์ต้องมีการจ่ายค่าชดเชยเสียหาย หากไฟแนนซ์ไม่ดำเนินการภายใน 3-7 วัน จะดำเนินการทางแพ่งกับโชว์รูม และบริษัทไฟแนนซ์
สำหรับปัญหาเกิดจากโชว์รูมและบริษัทไฟแนนซ์ โดยโชว์รูมได้กู้เงินจากบริษัทไฟแนนซ์เพื่อนำเงินไปซื้อรถจากบริษัทแม่โดยใช้เอกสารของรถยนต์ลูกค้าไปค้ำประกันไว้ จากนั้นบริษัทไฟแนนซ์ของลูกค้า ไม่ได้รับเอกสารรถจากโชว์รูม จึงไม่สามารถนำเอกสารไปจดทะเบียนรถให้ลูกค้าได้ ทางผู้เช่าซื้อรถจึงตกเป็นแพะรับบาปจากการที่โชวรูมไปกู้เงินกับไฟแนนซ์ดังกล่าวมา
ด้าน 1 ใน ผู้เสียหาย บอกว่าบริษัทดังกล่าวมีการโฆษณาหลายช่องทางทั้งจัดบูธในห้างสรรพสินค้าโฆษณาทางวิทยุ จะเอารถแห่ไปทั่วเมือง หลงเชื่อจองซื้อรถคันดังกล่าว แต่ปรากฏว่าใช้รถไปนานเกือบสองปีพยายามทวงถามจากเซลล์ ก็บ่ายเบี่ยง อ้างว่าขอให้รอก่อน บ้างก็ว่ารอเอกสารทะเบียนยังไม่ครบบ้าง หรือไม่ก็อ้างว่าขอทะเบียนแล้ว ต้องรอคิวตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ทนายเดชายังได้ให้คำแนะนำกับประชาชนที่ประสบปัญหาเหมือนกับผู้เสียหายกลุ่มนี้ว่า อันดับแรกให้ไปแจ้งความตำรวจ เพื่อดำเนินคดีอาญากับโชว์รูมรถ และอาจไปแจ้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. เพื่อให้ไปตรวจสอบกับโชว์รูมคู่กรณี ส่วนการฟ้องร้องแพ่งนั้น สามารถดำเนินการได้ทั้งโชว์รูมและบริษัทไฟแนนซ์ที่ผู้เสียหายเป็นลูกหนี้ เนื่องจากไม่ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาที่จะต้องจดทะเบียนรถให้ถูกต้อง ซึ่งผู้เสียหายไม่ต้องผ่อนรถต่อกับบริษัทไฟแนนซ์เจ้าหนี้ เนื่องจากเคยมีตัวอย่างคดีที่ศาลฎีกาพิพากษาเอื้อประโยชน์ให้กับผู้เสียหาย เพราะบริษัทไฟแนนซ์ไม่ปฏิบัติตามสัญญา
ด้าน พ.ต.ท.ปริญญา ปาละ รองผู้กำกับการ 1 บก.ปคบ. ระบุว่าเบื้องต้นได้รับเรื่องไว้ โดยจะส่งตำรวจลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริง ทั้งในส่วนพนักงานสอบสวนท้องที่และโชว์รูมที่ถูกกล่าวหา เพื่อพิจารณาต่อไปว่าจะรับทำคดีต่อหรือไม่ ซึ่งต้องมีหลักเกณฑ์เสนอให้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อพิจารณาและมีคำสั่งลงมา แต่จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าโชว์รูมอาจเข้าข่ายกระทำความผิด .-สำนักข่าวไทย