กรุงเทพฯ 9 ม.ค. – กรมชลประทานเตรียมเสนอ ครม. อนุมัติ “โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง” ซึ่งเป็น 1 ใน 9 แผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง มีเป้าหมายลดความเดือดร้อนของประชาชนใน 27 อำเภอของ 7 จังหวัดที่รวมถึง กทม. ด้วย สามารถบรรเทาความเสียหายในพื้นที่น้ำท่วม 276,000 ไร่ คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยปีละ 5,085 ล้านบาท
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า ได้เร่งรัดกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางให้ออกแบบ “โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง” ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โครงการนี้เป็น 1ใน 9 แผนงานของแผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ซึ่งมีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการโครงการแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการ
โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่างมีแผนงานปรับปรุงคลองชลประทานเดิม 26 คลอง ความยาวรวม 490 กิโลเมตร ตั้งแต่เขื่อนพระรามหกจนถึงอ่าวไทย ปรับปรุงอาคารบังคับน้ำ 14 อาคาร และปรับปรุงสถานีสูบน้ำ 2 แห่ง แผนงานดำเนินการโครงการ 6 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2567 – พ.ศ. 2572 วงเงินค่าก่อสร้าง 64,000 ล้านบาท
สำหรับคลองสำคัญที่จะมีการปรับปรุงตามแผนงานได้แก่
– คลองระพีพัฒน์
– คลองระพีพัฒน์แยกตก
– คลองระพีพัฒน์แยกใต้
– คลองรังสิตประยูรศักดิ์
– คลองรังสิตประยูรศักดิ์ถึงคลองหกวาสายล่าง
– คลองหกวาสายล่างถึงคลองบางขนาก
– คลองพระองค์ไชยานุชิต-คลองนครเนื่องเขต-คลองประเวศบุรีรมย์ และคลองสาขา
– คลองด่าน-คลองสําโรง และคลองสาขา
เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะสามารถเพิ่มอัตราการระบายน้ำจาก 210 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที เป็น 400 ลบ.ม./วินาที สามารถลดพื้นที่ใน 27 อำเภอ 7 จังหวัดได้แก่ สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นครนายก และสมุทรปราการ รวมเนื้อที่ น้ำท่วมได้ 276,000 ไร่ ทำให้ช่วยลดมูลค่าความเสียหายรวมจากอุทกภัยเฉลี่ยปีละ 5,085 ล้านบาท นอกจากนี้ยังช่วยให้คลองต่างๆ ที่ปรับปรุง สามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้น 18 ล้านลบ.ม./ปี สำหรับไว้ใช้ในฤดูแล้ง
นายประพิศกล่าวว่า โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่างได้ผ่านขั้นตอนศึกษาความเหมาะสมและสำรวจแล้ว ขณะนี้ขั้นตอนการออกแบบ ก้าวหน้าถึง 70% แบบจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2566 จากนั้นจะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอใช้พื้นที่
สำหรับ 9 แผนงานของแผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างประกอบด้วย
1. โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง
2. โครงการก่อสร้างคลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก-อ่าวไทย
3. โครงการก่อสร้างคลองระบายน้ำควบคู่กับถนนวงแหวนรอบที่ 3
4. โครงการปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานฝั่งตะวันตก
5. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำเจ้าพระยา
6. โครงการบริหารจัดการพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ
7. โครงการก่อสร้างคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร
8. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำท่าจีน
9. โครงการบริหารจัดการพื้นที่รับน้ำนอง.-สำนักข่าวไทย