กรุงเทพฯ 5 ม.ค.- อธิบดีกรมชลประทานสั่งโครงการชลประทานในพื้นที่ภาคใต้ให้เตรียมพร้อมรับฝนตกหนักอีกระลอก ตามที่กอนช. ประกาศแจ้งเตือนให้เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงใน 7 จังหวัด
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานเปิดเผยว่า สั่งการให้ทุกโครงการชลประทานในภาคใต้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ประกาศเรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในภาคใต้ระหว่างวันที่ 6 – 11 มกราคม 2566 เนื่องจากหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง มีแนวโน้มจะมีกำลังแรงขึ้น และเคลื่อนเข้าใกล้ปลายแหลมญวณ ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้นทำให้บริเวณภาคใต้จะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
สำหรับพื้นที่เสี่ยงซึ่งเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำมี 7 จังหวัด ดังนี้
- จังหวัดสุราษฎร์ธานี (อำเภอกาญจนดิษฐ์ ดอนสัก พนม เวียงสระ เกาะสมุย และเกาะพะงัน)
- จังหวัดนครศรีธรรมราช (อำเภอเชียรใหญ่ เฉลิมพระเกียรติ ท่าศาลา นบพิตำ ปากพนัง พรหมคีรี พระพรหม เมืองนครศรีธรรมราช ร่อนพิบูลย์ ลานสกา และสิชล)
- จังหวัดพัทลุง (อำเภอกงหรา เขาชัยสน ควนขนุน ตะโหมด บางแก้ว ปากพะยูน ป่าบอน เมืองพัทลุง และศรีนครินทร์)
- จังหวัดสงขลา (อำเภอกระแสสินธุ์ ควนเนียง จะนะ เทพา บางกล่ำ เมืองสงขลา ระโนด รัตภูมิ และหาดใหญ่)
- จังหวัดปัตตานี (อำเภอกะพ้อ โคกโพธิ์ ทุ่งยางแดง ปะนาเระ มายอ เมืองปัตตานี ไม้แก่น ยะรัง ยะหริ่ง สายบุรี และหนองจิก)
- จังหวัดยะลา (อำเภอรามัน)
- จังหวัดนราธิวาส (อำเภอจะแนะ เจาะไอร้อง ตากใบ บาเจาะ เมืองนราธิวาส ยี่งอ ระแงะ รือเสาะ แว้ง สุคิริน สุไหงโก-ลก และสุไหงปาดี)
นอกจากนี้ยังกำชับให้เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของแม่น้ำตาปี แม่น้ำปากพนัง แม่น้ำตรัง คลองชะอวด แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา และแม่น้ำโก-ลก รวมถึงเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีแนวโน้มปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการเก็บกักน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve) รวมทั้งอ่างฯ ขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำ โดยเฉพาะเขื่อนบางลางให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบน้อยที่สุดบริเวณท้ายเขื่อน
นายประพิศกล่าวว่า ทุกโครงการชลประทานต้องติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ ปรับการบริหารจัดการน้ำในแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก น้ำในลำน้ำ รวมถึงเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ ให้สอดคล้องกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำและ อิทธิพลของการขึ้น – ลง ของน้ำทะเล โดยการเร่งระบายและพร่องน้ำรองรับสถานการณ์ฝนที่คาดว่า จะตกหนัก
พร้อมกันนี้ให้ตรวจสอบระบบและอาคารชลประทานต่างๆ ให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมไปถึงบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมอย่างเคร่งครัด ส่วนพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมเป็นประจำ ให้ติดตั้งเครื่องจักร เครื่องมือ รถแบคโฮ/รถขุด รถเทรลเลอร์ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เครื่องผลักดันน้ำ ประจำไว้ในพื้นที่ เพื่อให้สามารถรับมือสถานการณ์และช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลา
ทั้งนี้หากมีมีแนวโน้มจะเกิดภาวะวิกฤติน้ำท่วมหรือน้ำเอ่อล้นตลิ่งในแม่น้ำสายหลัก โครงการชลประทานในพื้นที่บูรณาการร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำและเตรียมพร้อมรับมือได้อย่างทันท่วงที อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลจากทางหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในระยะต่อไป.-สำนักข่าวไทย