มูลนิธิป่ารอยต่อ 9 พ.ย.-“พล.อ.ประวิตร” เคาะเพิ่ม 15 เมืองอัจฉริยะไทยแลนด์ เตรียมเสนอ 3 เมืองร่วมสร้างความอยู่ดีกินดี
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ครั้งที่ 1/2565 โดยมี นายเนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า และผู้แทนจากสำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม อาทิ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ณ มูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัด และผ่านระบบออนไลน์
โดยที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะที่มี นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธาน โดยเฉพาะประเด็นการมอบตราสัญลักษณ์เพื่อรับรองการเป็นพื้นที่เมืองอัจฉริยะ 15 พื้นที่ใน 14 จังหวัด ประกอบด้วย
- นครระยอง เมืองอัจฉริยะและน่าอยู่ จังหวัดระยอง
- คันทรงโมเดล เมืองแห่งความสุขที่พึงประสงค์และสังคมแห่งการแบ่งปัน จังหวัดชลบุรี
- เมืองอัจฉริยะจังหวัดพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก
- โครงการพิษณุโลกนครอัจฉริยะอย่างยั่งยืน จังหวัดพิษณุโลก
- นครเชียงรายสู่เมืองอัจฉริยะ จังหวัดเชียงราย
- เมืองน่านสู่เมืองอัจฉริยะ จังหวัดน่าน
- โคราชเมืองอัจฉริยะ จังหวัดนครราชสีมา
- Smart City อุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี
- กระบี่เมืองอัจฉริยะ จังหวัดกระบี่
- จังหวัดพังงาสู่เมืองอัจฉริยะ จังหวัดพังงา
- Satun Smart City จังหวัดสตูล
- พัฒนาเทศบาลนครเกาะสมุย สู่เมืองอัจฉริยะอย่างยั่งยืน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
- หาดใหญ่เมืองอัจฉริยะสีเขียว จังหวัดสงขลา
- ปัตตานีเมืองอัจฉริยะ จังหวัดปัตตานี
- เมืองสิ่งแวดล้อมสร้างสรรค์นราธิวาส จังหวัดนราธิวาส
ขณะนี้ประเทศไทยมีพื้นที่ที่ได้รับการรับรองเป็นเมืองอัจฉริยะรวม 30 พื้นที่ใน 23 จังหวัด ก่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนกว่า 20 ล้านคน ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวจะได้รับการส่งเสริมการลงทุนสำหรับกิจการพัฒนาพื้นที่เมืองอัจฉริยะ และกิจการพัฒนาระบบเมืองอัจฉริยะจากบีโอไอ โดย 15 เมืองอัจฉริยะประเทศไทยที่ได้รับการเห็นชอบจากที่ประชุมวันนี้จะช่วยให้เกิดโอกาสการลงทุนเพื่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่จากภาคเอกชนมูลค่ารวมกว่า 20,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาการเสนอเมืองเข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน (ASEAN Smart Cities Network: ASCN) เพิ่มเติม ประกอบด้วย เชียงใหม่ ขอนแก่น ระยอง และฉะเชิงเทรา ซึ่งเดิมมีเมืองที่เข้าร่วมแล้วคือ กรุงเทพฯ ชลบุรี และภูเก็ต ซึ่งทั้ง 7 เมืองนับเป็นเป้าหมายการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของรัฐบาล
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบผลการจัดกิจกรรมสานต่อความร่วมมือระดับภูมิภาคผ่านเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน (ASEAN Smart Cities Network: ASCN) ผลการดำเนินกิจกรรมสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในปี 2565 ผ่านกิจกรรมการพัฒนากำลังคนด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ อาทิ โครงการนักส่งเสริมดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ (Smart City Ambassadors) รุ่นที่ 2 ซึ่งเป็นโครงการพัฒนากำลังคนดิจิทัลรุ่นใหม่ ควบคู่ไปกับการยกระดับทักษะด้านดิจิทัลให้กับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น กิจกรรมส่งเสริมและสร้างความตระหนัก อาทิ การจัดประกวด The Smart City Solution Awards 2022 เพื่อมอบรางวัลแก่ผู้ที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เพื่อการบริการภาคประชาชน และการจัดนิทรรศการ Smart City Expo 2022 ที่จะมีขึ้น ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม 2565
พล.อ.ประวิตร กล่าว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลผ่านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ซึ่งถือเป็นการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ตามแนวทางที่แผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปีได้วางไว้ โดยการประชุมในวันนี้เพื่อรับทราบผลการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการประกาศมอบตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะประเทศไทย ประจำปี 2565 กิจกรรมการพัฒนากำลังคนด้านเมืองอัจฉริยะ การสร้างกลไกการส่งเสริมเมืองอัจฉริยะอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการพิจารณาเพิ่มเมืองเพื่อเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน ทั้งนี้ ขอให้ทุกภาคบูรณาการการทำงาน เพื่อขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะของประเทศ เนื่องจากเป็นวาระแห่งชาติ และจะนำไปสู่ความอยู่ดีมีสุขของภาคประชาชน ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 โดยเฉพาะหมุดหมายที่ 8 ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน.-สำนักข่าวไทย