ก.คลัง 28 ต.ค.-คลัง ปรับเป้าจีดีพีไทยปี 65 เติบโตร้อยละ 3.4 ต่อปี มั่นใจการบริโภคภาคเอกชน การท่องเที่ยวฟื้นตัว หวังเศรษฐกิจไทยปี 66 ขยายตัวต่อเนื่อง ร้อยละ 3.8 หลังปัญหาเงินเฟ้อเริ่มคลี่คลาย ติดตามปัญหารัสเซีย-ยูเครน
นายพรชัย ฐีระเวช โฆษกกระทรวงการคลังแถลงปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2565 ว่า กระทรวงการคลัง ปรับเป้าหมายการเติบโตเศรษฐกิจไทยปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 3.4 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.9 ถึง 3.9) เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุน จากการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว หลัง COVID-19 คลี่คลาย และการผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าไทย ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ ช่วง 9 เดือนแรกของปี 65 จำนวน 5.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6,477 ต่อปี และคาดว่าตลอดทั้งปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10.2 ล้านคน เพิ่มขึ้นประมาณการครั้ง 8 ล้านคน ส่งผลให้รายได้ของแรงงานและภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวขยายตัวสูงขึ้น
นอกจากนี้รายได้เกษตรกรที่แท้จริง ซึ่งเป็นฐานการบริโภคภาคเอกชนที่สำคัญ ในช่วง 9 เดือนแรกขยายตัวสูงถึงร้อยละ 7.4 ต่อปี เมื่อรัฐบาลได้ออกหลายมาตรการกระตุ้นการบริโภค เช่น การเติมกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการฯ โครงการคนละครึ่ง คาดว่าการบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวถึงร้อยละ 7.9 ต่อปี ขณะที่การส่งออกสินค้าในปี 65 ยังขยายตัวต่อเนื่องตลอดทั้งปี หลังปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิตอิเล็กทรอนิกส์เริ่มคลี่คลายลง คาดว่าการส่งออกขยายตัว ร้อยละ 8.1 ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น คาดว่าการลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ5.1 ต่อปี ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป คาดว่าอยู่ที่ร้อยละ 6.2 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ5.7 ถึง 6.7) เนื่องจากปัญหาราคาพลังงานสูง เมื่อภาครัฐ ได้ออก มาตรการดูแลค่าครองชีพ จะทำให้อัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปี 65 มีแนวโน้มชะลอตัวลง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดจะขาดดุล -13.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือร้อยละ -2.7 ของ GDP (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -3.2 ถึง -2.2 ของ GDP) จากการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น
สำหรับแนวโน้ม เศรษฐกิจไทยในปี 2566 คาดว่าขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 3.8 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 2.8 ถึง4.8) ได้แรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจากภู เอเชีย ยุโรป และอเมริกา คาดว่าในปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้าไทย 21.5 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 109 ต่อปี จึงมีรายได้จากภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่อง สนับสนุนให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ต่อเนื่องร้อยละ3.2 ต่อปี การส่งออกสินค้า ขยายตัวร้อยละ 2.5 ต่อปี การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 3.7 เพราะมีการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรและการก่อสร้าง เพิ่มขึ้น
ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.9 ปรับลดลงตามราคาพลังงาน ดุลบัญชีเดินสะพัด คาดว่าจะกลับมาเกินดุล 5.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 1.1 ของ GDP สำหรับปัจจัย ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด มีทั้งปัจจัยสนับสนุน อาทิ ภาคการท่องเที่ยว มีโอกาสฟื้นตัวสูงกว่าที่คาดการณ์ เพราะนักท่องเที่ยวชาวจีน อาจเข้ามาท่องเที่ยวมากขึ้น ส่วนปัจจัยเสี่ยง ยังมีนโยบายการเงิน เข้มงวดของประเทศคู่ค้าหลัก อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป แนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด จากปัญหาเงินเฟ้อ นำไปสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ปัญหาการขาดแคลนอาหารไทยต้องใช้โอกาสนี้ในการส่งออกอาหาร.-สำนักข่าวไทย