ธปท. 26 ก.ย.- รัฐบาลดึงหลายหน่วยงานร่วม “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้” หลังหนี้ครัวเรือนพุ่งร้อยละ 90 ของจีดีพี เดินหน้าร่วมสร้างอาชีพเสริม สร้างวินัยการเงิน เผย NPL ของแบงก์ไม่น่าห่วงเหมือนวิกฤติปี 40
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกรถทรวงพลังงาน กล่าวในงาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เร่ิมต้นใหม่อย่างยืน” ว่า จากปัญหาหนี้ครัวเรือน เพิ่มสูงขึ้น ลูกหนี้รายย่อย เอสเอ็มอี ซึ่งเคยชำระดี้ก่อนปัญหาโควิด-19 นับล้านราย เมื่อธนาคารพาณิชย์ แบงก์รัฐ สมาคมด้านต่างๆ มาร่วมดูแลลูกหนี้ จะทำให้หนี้ภาคครัวเรือนลดลงมาได้ ยอมรับว่าสถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ ดัชนีหลายตัวบ่งชี้เศรษฐกิจฟื้นตัว ทั้งการส่งออก การอุปโภค การลงทุน แต่ยังมีรายได้หายไป และเมื่อต้องเผชิญกับโควิด-19 ทำให้หมดกำลังผ่อนชำระค่างวด เร่ิมมีปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกรถทรวงการคลัง กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลประกาศปี 2565 ปีแห่งการแก้ปัญหาหนี้ภาคประชาชน ยอมรับว่า เศรษฐกิจฟื้นตัว แต่ปัญหาหนี้ยังสูง ทุกฝ่ายจึงเป็นห่วง กระทรวงการคลัง ธปท. ร่วมกับสถาบันการเงิน และสถาบันอื่น 60 หน่วยงาน เปิดให้ลงทะเบียนออนไลน์ และจัดรูปแบบเจรจาหนี้แบบนัดพบกันไม่ต้องหลบซ่อน เมื่อลูกค้าเดินเข้ามาแบงก์พร้อมพูดคุย เพื่อหาทางออกร่วมกันแก้ปัญหาหนี้
หลังจากนั้น พร้อมหาช่องทางเติมทุน เติมสภาพคล่องให้กลับมาประกอบอาชีพ แบงก์รัฐ มีหลากหลายเมนูสินเชื่อ เช่น สร้างงานสร้างอาชีพ ของ ธ.ออมสิน และสินเชื่อของแบงก์รัฐ สำหรับผู้ต้องการเริ่มต้นธุรกิจ การสะสมการออม จะให้คำปรึกษาทางการเงิน เพื่อหาช่องทางระดมทุน สร้างธุรกิจใหม่ โดยจัดโปรแกรม จัดงานแก้ปัญหาหนี้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน
นายเศรษฐพุฒิ สิทธิวานฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว แต่ฟื้นตัวแบบกระจายไม่เท่ากัน ผู้มีรายได้น้อย ยังต้องเผชิญกับค่าครองชีพแพง ที่ผ่านมา ธปท.ร่วมกับสถาบันการเงิน และอีกหลายหน่วยงาน ปรับเงื่อนไขการคัดดอกเบี้ยผิดนัด การปรับระยะเวลาชำระหนี้ แต่ยอมรับว่าภาระหนี้ครัวเรือนสูงร้อยละ 88 ของจีดีพี นับว่ายังอยู่ในระดับสูง บางสถาบันระบุว่าสูงร้อยละ 90 ของจีดีพี ปัจจัยสำคัญของการแก้ปัญหาหนี้ อาทิ การยึดองค์ประกอบการปล่อยกู้ เพื่อสร้างวินัยการชำระหนี้ การปล่อยกู้ต้องเน้นคุณภาพ การให้ข้อมูลลูกหนี้อย่างเพียงพอ
การสร้างกลไกชำระหนี้ การลดดอกเบี้ย การรีไฟแนนซ์ การไม่สร้างภาระให้กับลูกหนี้ เมื่อยืดระยะเวลานานเกินไป ต้องเผชิญกับภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังต้องระวังเรื่องการแก้ไขประวัติลูกหนี้ ทำให้เจ้าหนี้ไม่รู้จักลูกค้าอย่างเพียงพอ จึงอาจเกิดปัญหาหนี้เสียได้ เจ้าหนี้ลูกนี้ ต้องมีความจริงใจร่วมแก้ปัญหาหนี้ ที่สำคัญ ต้องร่วมการสร้างภูมิคุ้มกัน สร้างวินัยทางการเงิน เพื่อแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน
นายผยง ศรีวิณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (จำกัดมหาชน) กล่าวว่า หลังจาก คลังแบงก์ชาติ ร่วมกันฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ช่วงที่ผ่านมา ช่วยเหลือลูกหนี้เข้าร่วมโครงการจาก มิ.ย.65 ยอดหนี้ 6.1 ล้านบัญชี ลดเหลือ 1.6 ล้านบัญชี มูลหนี้ 4.2 ล้านล้านบาท ลดเหลือ 2 ล้านล้านบาท ในปัจจุบัน ยอมรับการแก้ปัญหาครั้งนี้ ครอบคลุมในเชิงลึก และตรงจุด รวมทั้งยังป้องกันการก่อหนี้อาจนำไปสู่หนี้เสีย ยอมรับว่ายอดหนี้ NPL จากเดือนมิถุนายน 63 สัดส่วนร้อยละ 3.04 ขณะนี้ลดเหลือร้อยละ 2.88 นับว่าแตกต่างจากในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจในปี 40 มีสัดส่วนร้อยละ 50 มาตรการแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน จะช่วยลดปัญหาได้มากขึ้น.-สำนักข่าวไทย